ดูแลเท้าอย่างไร เมื่อเป็นเบาหวาน
ที่มา : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
ดูแลเท้าอย่างไร? เมื่อเป็นเบาหวาน ผู้เป็นเบาหวาน ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกทำลายระบบประสาทและหลอดเลือดส่วนปลาย ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการดังนี้
1. ระบบประสาทรับความรู้สึกเสียหาย เมื่อเกิดการบาดเจ็บที่เท้าจะไม่สามารถรับความรู้สึกจึงมักเกิดแผลที่เท้าโดยไม่รู้ตัวได้ง่าย
2. ระบบประสาทสั่งการกล้ามเนื้อในเท้าเสียหาย ทำให้เท้าผิดรูป เมื่อเกิดจุดกดทับบริเวณฝ่าเท้าเนื่องจากมีการยืนและเดินลงน้ำหนักในบางตำแหน่งมากเกินไป ทำให้เกิดหนังด้านแข็ง ซึ่งเป็นสาเหตุของแผลได้
3. ระบบประสาทออโตโนมิกเสียหาย ทำให้ผิวหนังแห้งเป็นแผลง่าย
หากหลอดเลือดที่มาเลี้ยงขาและเท้ามีปัญหาจะทำให้ขบวนการการรักษาแผลของร่างกายเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งนี้หากมีการติดเชื้อรุนแรงร่วมด้วยผู้ป่วยอาจต้องถูกตัดเท้าหรือขา ซึ่งผู้เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการถูกตัดขามากกว่าผู้ที่ไม่เป็นเบาหวานถึง 25 เท่า โดยผู้ที่เป็นเบาหวานที่มีประวัติการมีแผลมาก่อน มีโอกาสการเกิดแผลซ้ำใน 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 70 ทั้งนี้พบว่า ร้อยละ 85 ของการสูญเสียสามารถป้องกันได้โดยการตรวจและดูแลรักษาตั้งแต่ระยะแรก ดังนั้น การตรวจค้นหาและดูแลตั้งแต่ระยะแรกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพเท้าในผู้เป็นเบาหวาน
ปัจจัยเสี่ยงการเกิดแผลที่เท้าในผู้เป็นเบาหวาน
การเกิดแผลที่เท้าในผู้เป็นเบาหวานสัมพันธ์กับโรคปลายประสาทเสื่อมจากเบาหวานและโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน แล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ ได้แก่
เพศชาย
อายุ
สูบบุหรี่
เป็นเบาหวานมานานและมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง
มีประวัติการตัดนิ้วเท้าหรือขา
เท้าผิดรูปมีหนังด้านแข็งที่ฝ่าเท้า
มีประวัติแผลที่เท้ามาก่อนหรือมีการเกิดแผลซ้ำใน 2-5 ปี
มีจอประสาทตาผิดปกติจากโรคเบาหวาน
มีภาวะแทรกซ้อนที่ไตจากโรคเบาหวาน
การประเมินสภาพเท้าผู้เป็นเบาหวาน
1. การตรวจเท้าอย่างละเอียดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
2. การประเมินสภาพปลายประสาทโดยใช้ Monofilament น้ำหนัก 10 กรัม
3. การประเมินการกระจายน้ำหนักฝ่าเท้าด้วยเครื่อง Computerized foot scan
4. การตรวจคัดกรองภาวะหลอดเลือดแดงตีบ ด้วยวิธี Ankle-Brachial Index (ABI)
ระดับความเสี่ยงของการเกิดแผลที่เท้าสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน
1. ระดับความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ ผู้เป็นเบาหวานที่ไม่มีแผลที่เท้าขณะประเมิน ไม่มีประวัติการเป็นแผลที่เท้าหรือถูกตัดขา / เท้า / นิ้วเท้า ผิวหนังและรูปเท้าผิดปกติ ผลการประเมินการรับความรู้สึกในการป้องกันตนเองที่เท้าและชีพจรปกติ
2. ระดับความเสี่ยงปานกลาง ได้แก่ ผู้เป็นเบาหวานที่ตรวจพบผลการประเมินการรับความรู้สึกในการป้องกันตนเองที่เท้าผิดปกติและ/หรือ ชีพจรเท้าเบาลง หรือตรวจค่า ABI < 0.9 ควรพิจารณาอุปกรณ์เสริมในรองเท้าหรือรองเท้าที่เหมาะสมและนัดตรวจเท้าอย่างละเอียดทุก 6 เดือน
3. ระดับความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้เป็นเบาหวานที่มีประวัติมีแผลที่เท้าหรือถูกตัดขา / เท้า / นิ้วเท้า หรือมีความเสี่ยงปานกลางร่วมกับพบเท้าผิดรูป ควรพิจารณาตัดรองเท้าพิเศษ และนัดตรวจเท้าอย่างละเอียดทุก 3 เดือน
วิธีการดูแลรักษาเท้าของผู้เป็นเบาหวาน
1. สำรวจเท้าและทำความสะอาดเท้าทุกวัน หากพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์
2. ทาโลชั่นทุกวันทันทีภายหลังจากทำความสะอาด
3. การดูแลเล็บ การตัดเล็บเท้าควรทำด้วยความระมัดระวังและตัดอย่างถูกวิธี
4. ถ้ามีผิวหนังที่หนา หากพัฒนาจนแข็งเป็นก้อน ควรได้รับการตัดให้ บางทุกๆ 4-8 สัปดาห์ โดยผู้ชำนาญ
5. เลือกใช้รองเท้าที่ถูกสุขลักษณะมีขนาดพอดีไม่คับหรือไม่หลวมจนเกินไป
6. สวมถุงเท้าเพื่อคงความชุ่มชื้นและสามารถลดการเสียดสี
7. กรณีเกิดบาดแผลต้องรีบพบแพทย์และรักษาโดยเร็ว
ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th
ไม่มีความคิดเห็น: